กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม

ประวัติความเป็นมา

การทอดกฐิน

การทอดกฐินหรือการถวายผ้ากฐินเป็นกาลทาน เป็นการถวายทานที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ ไว้ในคัมภีร์พระวินัยปิฎก ชื่อมหาวัคค์ เรื่อง กฐินขันธกะ (หมวดว่าด้วยกฐิน) ว่า ครั้งหนึ่งมีภิกษุชาวเมืองปาฐา หรือปาวา จำนวน ๓๐ รูป ที่เดินทางมาด้วยหวังจะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซึ่งประทับอยู่ ณ พระเชตวัน เมืองสาวัตถี พอถึงเมืองสาเกตุอีก ๖ โยชน์จะถึงเมืองสาวัตถีก็ถึงกาลเข้าพรรษา จึงต้องอยู่จำพรรษา ณ เมืองสาเกตุ ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ ในระหว่างจำพรรษาอยู่นั้นก็มีความกระวนกระวายในการอยากจะเข้าเฝ้าพระผู้มี พระภาค ครั้นเมื่อออกพรรษา ก็รีบเดินทางไปยังเมืองสาวัตถีเพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคทันที ทำให้น้ำหรือโคลนตมเปรอะเปื้อนจีวรในระหว่างเดินทาง เมื่อภิกษุเหล่านั้นได้เข้าเฝ้า พระพุทธองค์ ทรงปฏิสันถารด้วยภิกษุเหล่านั้น และทรงทราบถึงความลำบากของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น จึงทรงยกเป็นเหตุมีพระพุทธานุญาตให้กรานกฐิน และโปรดให้เป็นการสงฆ์ คือเป็นสังฆกรรมสำหรับภิกษุทั้งหลายทั่วไป ในระยะเวลาภายหลังวันออกพรรษาแล้วหนึ่งเดือน (ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒)

ผ้ากฐิน ผ้าที่จะทำเป็นผ้ากฐินได้นั้น เป็นผ้าใหม่ก็ได้, ผ้าเทียมใหม่ก็ได้, ผ้าเก่าหรือผ้าบังสุกุลก็ได้ แต่ผ้าเหล่านี้จะต้องมีพอที่จะทำไตรจีวรผืนใดผืนใดผืนหนึ่ง (ผ้าไตรจีวร ของพระสงฆ์มี ๓ ผืน คือ สบง = ผ้านุ่ง, จีวร = ผ้าห่ม, และสังฆาฏิ = ผ้าซ้อนห่ม หรือผ้าพาด) ผ้านี้คือผ้าองค์กฐิน ส่วนสิ่งของอื่นๆ ไม่ใช่องค์กฐิน แต่เป็นบริวารกฐิน บริวารกฐินนี้จะมีมากหรือน้อยก็ได้ไม่มีกำหนด แล้วแต่ตามศรัทธาของผู้ถวาย

กฐิน ตามอรรถกถาฎีกาต่างๆ กล่าวไว้มี ๒ ลักษณะ คือ

  • ๑. จุลกฐิน เป็นกิจกรรมสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันทำให้แล้วเสร็จภายในกำหนดวันหนึ่ง นับตั้งแต่การเก็บฝ้าย ปั่นฝ้าย กรอ ทอ ตัด เย็บ ย้อม ทำให้เป็นขันฑ์ ได้ขนาดตามวินัย แล้วทอดถวายให้แล้วเสร็จในวันนั้น
  • ๒. มหากฐิน เป็นการจัดหาผ้ามาเป็นองค์กฐิน พร้อมทั้งเครื่องไทยธรรม บริวารเครื่องกฐินจำนวนมาก ไม่ต้องทำโดยรีบด่วน เพื่อจะได้มีส่วนหาทุนในการบำรุงวัด เช่น การบูรณะซ่อมแซมศาสนสถานภายในวัด

การทอดกฐินในปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน

๑. พระกฐินหลวง เป็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็น พุทธมามกะและเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ รวมทั้งพระกฐินที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ราชสกุล องคมนตรี หรือผู้ที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้เสด็จฯ แทนพระองค์นำไปถวายยังพระอารามหลวงสำคัญ ๑๖ พระอาราม ที่สงวนไว้ไม่ให้มีการขอพระราชทาน คือ

กรุงเทพมหานคร จำนวน ๑๒ พระอาราม

  • ๑. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
  • ๒. วัดอรุณราชวราราม
  • ๓. วัดราชโอรสาราม
  • ๔. วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
  • ๕. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
  • ๖. วัดบวรนิเวศวิหาร
  • ๗. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
  • ๘. วัดสุทัศนเทพวราราม
  • ๙. วัดราชาธิวาส
  • ๑๐. วัดมกุฏกษัตริยาราม
  • ๑๑. วัดเทพศิรินทราวาส
  • ๑๒. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

จังหวัดนครปฐม จำนวน ๑ พระอาราม

  • ๑๓. วัดพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน ๒ พระอาราม

  • ๑๔. วัดนิเวศธรรมประวัติ อำเภอบางปะอิน
  • ๑๕. วัดสุวรรณดาราราม อำเภอพระนครศรีอยุธยา

จังหวัดพิษณุโลก จำนวน ๑ พระอาราม

  • ๑๖. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอเมืองพิษณุโลก

โต๊ะหมู่บูชาพระบรมฉายาลักษณ์ พิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน


๒. พระกฐินพระราชทาน คือ พระกฐินที่ถือว่า ผ้าพระกฐิน บริขาร และบริวารกฐิน เป็นของหลวง แต่เปิดโอกาสให้ส่วนราชการ องค์กร หรือบุคคลที่สมควร ขอรับพระราชทานอัญเชิญไปถวายยังพระอารามหลวงต่างๆ นอกจากพระอารามหลวงสำคัญ ๑๖ พระอารามดังกล่าว รัฐบาลโดยกรมการศาสนาจัดหาผ้าพระกฐิน และบริวารพระกฐิน (ปัจจุบันมีจำนวน ๒๖๕ พระอาราม มีรายชื่อตามบัญชีพระอารามหลวง) ซึ่งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สมาคม บริษัทห้างร้าน และบุคคลทั่วไป จะต้องยื่นความจำนงขอพระราชทานผ่านไปยังกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และเมื่อถึงกำหนดกฐินกาลก็ติดต่อขอรับ ผ้าพระกฐินและบริวารพระกฐินจาก กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา เพื่อนำไปทอด

ณ พระอารามที่ขอรับพระราชทานไว้ เมื่อทอดถวายเรียบร้อยแล้วผู้ขอรับพระราชทานจะต้องจัดทำบัญชีรายงานถวายพระราชกุศลในการถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ส่งไปยัง กรมการศาสนา เพื่อจะได้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐิน ส่งไปยัง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อแจ้งให้สำนักราชเลขาธิการนำความกราบบังคมทูล พระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายพระราชกุศลในการที่หน่วยงาน องค์กร หรือบุคคลทั่วไป อัญเชิญผ้าพระกฐินไปถวาย ณ อารามนั้น

เครื่องบริวารพระกฐินพระราชทาน

คำถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน

(ผู้ขอรับพระราชทานหันหน้าไปทางพระประธานในพระอุโบสถ กล่าว) “นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ” (หันหน้าไปทางพระสงฆ์ กล่าว)

“ผ้าพระกฐินทานกับทั้งผ้าอานิสงสบริวารทั้งปวงนี้ ของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ กอปรด้วยพระราชศรัทธา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานให้...................................... (ชื่อหน่วยงาน องค์กร หรือบุคคลผู้ขอรับพระราชทาน) น้อมนำมาถวายแด่พระสงฆ์ ซึ่งจำพรรษากาลถ้วนไตรมาสในอาวาสวิหารนี้ ขอพระสงฆ์จงรับผ้าพระกฐินทานนี้ กระทำกฐินัตถารกิจ ตามพระบรมพุทธานุญาตนั้น เทอญ”


๓. กฐินทั่วไป หรือที่เรียกว่า “กฐินราษฎร์” เป็นการถวายผ้ากฐินที่พุทธศาสนิกชนทั่วไป มีความประสงค์จะนำไปถวายแด่พระสงฆ์ที่จำพรรษาถ้วนไตรมาส ณ วัดใดวัดหนึ่งที่เป็นวัดราษฎร์ (ไม่ใช่พระอารามหลวง) ซึ่งผู้ที่มีความประสงค์จะทำบุญทอดกฐิน ณ วัดใดวัดหนึ่ง (ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน แด่พระสงฆ์ ที่จำพรรษาถ้วนไตรมาส ในวัดราษฎร์ เรียกว่า “พระกฐินต้น”) มีขั้นตอนและพิธีการดังนี้

  • การจองกฐิน โดยผู้ที่จะทอดกฐิน ณ วัดใด ก็แจ้งให้เจ้าอาวาสหรือทางวัดทราบว่า จะนำผ้ากฐินมาทอดถวายที่วัดนี้
  • เมื่อใกล้จะถึงกำหนดกรานกฐิน ให้นัดวัน เวลา ที่จะนำผ้ากฐินมาถวาย แด่พระสงฆ์นั้น
  • จัดหาผ้าไตร (ถ้าเป็นคณะสงฆ์ธรรมยุตจะต้องมีผ้าขาวด้วย) พร้อมทั้งจัดหาเครื่องบริวารกฐินอื่นๆ ตามกำลังศรัทธาของเจ้าภาพเพิ่มเติม

เมื่อถึงกำหนดวันทอดกฐิน ผู้เป็นเจ้าภาพจะจัดให้มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ฉลององค์กฐินหรือไม่ก็ได้ วันรุ่งขึ้นเมื่อจะทำพิธีถวายผ้ากฐิน ให้นำพานแว่นฟ้าที่มีผ้ากฐิน บริขาร และบริวารเครื่องกฐินทั้งหมด วางไว้เบื้องหน้าพระสงฆ์ เมื่อจุดธูปเทียนบูชาพระประธานในอุโบสถหรือที่โต๊ะหมู่สำหรับบูชาพระรัตนตรัยเรียบร้อย

  • ศาสนพิธีกรอาราธนาศีล
  • ประธานสงฆ์ให้ศีล
  • ประธานพิธีหรือศาสนพิธีกรกล่าวนำคำถวายผ้ากฐิน ซึ่งคำถวายมี ๒ แบบ ดังนี้

คำถวายแบบที่ ๑

กล่าวนะโม ๓ จบ ดังนี้

“นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ” (๓ จบ)

คำถวายผ้ากฐิน

“อิมํ สปริวารํ กฐินวีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยามะ
ทุติยมฺปิ อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยา
ตติยมฺปิ อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม”

คำแปล

“ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย
ผ้าจีวรกฐิน กับทั้งบริวารนี้ แด่พระสงฆ์
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย
ผ้าจีวรกฐิน กับทั้งบริวารนี้ แด่พระสงฆ์ แม้ในวาระที่สอง
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย
ผ้าจีวรกฐิน กับทั้งบริวารนี้ แด่พระสงฆ์ แม้ในวาระที่สาม”

คำถวายแบบที่ ๒

กล่าวนะโม ๓ จบ ดังนี้

“นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ” (๓ จบ)

คำถวายผ้ากฐิน

“อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม
สาธุ โน ภนฺเต สงฺโฆ, อิมํ สปริวารํ กฐินทุสฺสํ, ปฏิคฺคณฺหาตุ,
ปฏิคฺคเหตฺวา จ, อิมินา ทุสฺเสน กฐินํ อตฺถรตุ, อมฺหากํ
ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย

คำแปล

“ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐิน
กับทั้งผ้าบริวารนี้ แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐิน กับทั้งบริวารนี้
ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ครั้นรับแล้ว จงกรานกฐิน ด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์
เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนาน เทอญ.”