ชื่อ | วัดหนองแวง |
---|---|
ที่อยู่ | |
โทรศัพท์ | ๐ ๔๓๒๒ ๑๖๖๔ |
โทรสาร | |
จังหวัด | ขอนแก่น |
อำเภอ | เมืองขอนแก่น |
ตำบล | ในเมือง |
วัดหนองแวง เดิมชื่อวัดเหนือ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๓ พร้อมกับวัดกลาง และวัดธาตุ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) หลังสร้างเมืองหลวงใหม่คือกรุงเทพมหานคร แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านบึงบอน (เมืองเก่า) ขึ้นเป็นเมืองขอนแก่น ทรงพระราชทานเลื่อยศท้าวเพี้ย เมืองแพน ผู้สร้างเมืองขอนแก่นเป็นพระนครศรีบริรักษ์ในคราวสร้างเมืองขึ้นนั้น พระนครศรีบริรักษ์ได้สร้างวัดหนองแวงพร้อมกับสร้างเมืองขอนแก่นและอุปถัมภ์มาโดยตลอด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๒ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๗<?xml:namespace prefix = o ns = "urn:schemas-microsoft-com:office:office" />
เมื่อครั้งเมืองขอนแก่นครบ ๒๐๐ ปี ใน ปี พ.ศ.๒๕๓๒ พระราชปริยัติเมธี (คูณ ขันติโก ป.ธ.๔) เจ้าอาวาสวัดหนองแวง พระอารามหลวง จังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยคณะสงฆ์และสาธุทั้งปวง ได้พร้อมใจกันก่อสร้าง พระมหาธาตุแก่นนครอนุสรณ์สาธุชน ขึ้น เพื่อเป็นอนุสาวรีย์กตัญญูกตเวทีต่อบุพการีชนต้นตระกูลของเมืองขอนแก่น และเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา โดยกราบเรียนอาราธนาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) มาเป็นองค์ประธานเปิดงาน และได้กราบทูลอาราธนาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เสด็จมาเป็นองค์ประธานทรงยกเสาเอกเสาโท ตั้งแต่วันที่ ๘-๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๒
พระราชปริยัติเมธี (หลวงพ่อคูณ ขนฺติโก) เจ้าอาวาสวัดหนองแวง เป็นผู้มีความมุ่งมั่นศรัทธาแรงกล้าที่จะก่อสร้างพระมหาธาตุแก่นนคร และพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้ ท่านได้ระดมทุนทรัพย์จากผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาคสมทบทุนร่วมก่อสร้างพระมหาธาตุฯ จนเป็นผลสำเร็จตามโครงการโดยใช้งบประมาณ จำนวน ๔๗,๘๐๔,๘๘๘ บาท นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือในการออกแบบและระดมทุนก่อสร้างจากคณะสถาปัตยกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กรมการศาสนา และกรมศิลปากร ตลอดจนหน่วยงานเอกชนและภาคประชาชนเข้ามาร่วมกันจัดตั้งจนเสร็จเรียบร้อยด้วยดี ซึ่งชาวบ้านและชุมชนรอบ ๆ วัด ได้เข้ามาร่วมดำเนินกิจกรรมเสริม ได้แก่ การจัดสินค้าพื้นเมืองมาจำหน่ายเป็นรายได้เข้าสู่ชาวบ้านและชุมชน นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากสภาวัฒนธรรมจังหวัด ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัด วัด โรงเรียนในท้องถิ่นและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งได้ให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมาโดยตลอด