ชื่อ | วัดราชบุรณะ |
---|---|
ที่อยู่ | |
โทรศัพท์ | ๐ ๒๖๒๓ ๗๙๕๘ - ๙ |
โทรสาร | |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
อำเภอ | เขตพระนคร |
ตำบล | วังบูรพาภิรมย์ |
วัดราชบุรณะ เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร
วัดราชบุรณะ เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๑๑๙ แขวงบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐ เบอร์โทรศัพท์ ๐ ๒๖๒๓ ๗๙๕๘ - ๙
ประวัติความเป็นมา
วัดราชบุรณะ เดิมชื่อว่า วัดเลียบ เป็นวัดโบราณ ตามประวัติการสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีพ่อค้าชาวจีน ชื่อเลี๊ยบ ได้มาจอดเรือสำเภาพักอาศัยขายของที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อขายสินค้าร่ำรวย จีนเลี๊ยบ ซึ่งเป็นผู้มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้สร้างศาลาไว้เป็นที่ทำบุญและให้ทาน ต่อมาชาวบ้านได้มาร่วมทำบุญถวายทานมากขึ้น จึงได้สร้างพระเจดีย์ พระวิหารขึ้น เหนือบริเวณฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตรงกับที่ตนเองได้อาศัยขายของ ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดจีนเลี๊ยบ ตามชื่อของผู้สร้าง และต่อมาจึงเรียกให้สั้นเข้า ว่าวัดเลียบ คุ้นปากมาถึงปัจจุบัน
สมัยรัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดเกล้าให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ บูรณะวัดเลียบทั้งพระอาราม พร้อมทั้งสถาปนาให้เป็นพระอารามหลวงและพระราชทานนามว่า วัดราชบุรณราชวรวิหาร ตามนามวัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นวัดคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
ในสมัยรัชกาลที่ ๒ โปรดให้ถอนสีมาเก่าแล้วสร้างพระอุโบสถและพระวิหารขึ้นใหม่ มีระเบียบล้อมรอบพระอุโบสถ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งพระองค์ท่านโปรดเกล้าให้นำมาจากหัวเมืองต่าง ๆ รวม ๑๖๒ องค์ ภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปและรูปพระมหาอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ โปรดให้ขุดคูรอบพระอาราม เว้นด้านหน้า ทรงสร้างพระปรางค์องค์ใหญ่ ประดับกระเบื้องเคลือบทั้งองค์
ครั้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๕ วัดราชบุรณะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอาราม ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๔ ทางราชการได้สร้างถนนตรีเพชรผ่านกลางวัด รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าให้สร้างกำแพงวัดเพื่อกั้นเป็นเขตตั้งแต่ปากคลองคูวัด ทิศใต้หน้าวัดริมถนนจักเพชร และทิศตะวันตกริมถนนตรีเพชรจรดคลองคู ด้านหลังวัดโปรดเกล้า ให้รื้อกุฏิทางด้านตะวันตกของถนนตรีเพชร(โรงเรียนสวนกุหลาบ) มาสร้างใหม่ในเขตวัดด้านทิศตะวันออกของถนนตรีเพชร จัดให้เป็นหมวดหมู่
ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๔ วัดราชบุรณะ ถูกภัยทางอากาศ เสียหายจำนวนมาก คณะสังฆมนตรีและรัฐมนตรีมีมติสมควรยุบวัด จึงได้นำความกราบบังคลทูลและประกาศยุบวัด หลังสงครามสงบพระครูปลัดธรรมจริยวัฒน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ได้ร่วมมือกับพ่อค้าประชาชนผู้เคยอุปการะวัดนี้ ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดให้คงสภาพดีขึ้นโดยมอบหน้าที่ให้นายควง อภัยวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร์จังหวัดพระนคร เป็นผู้นำความกราบขึ้นบังคลทูล เพื่อโปรดเกล้าการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดราชบุรณะขึ้นเพื่อเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองรักษาประวัติศาสตร์ของชาติไทยไว้