ชื่อ | วัดศรีอุบลรัตนาราม (ธ) |
---|---|
ที่อยู่ | |
โทรศัพท์ | ๐ ๔๕๒๕ ๕๕๖๗ |
โทรสาร | |
จังหวัด | อุบลราชธานี |
อำเภอ | เมืองอุบลราชธานี |
ตำบล | ในเมือง |
วัดศรีอุบลรัตนาราม เดิมชื่อวัดศรีทอง เป็นวัดสังกัดธรรมยุตนิกายวัดหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๓๙๘ ปี เถาะ จุลศักราช ๑๒๑๗ ร.ศ. ๗๔ หลังจากสร้างวัดสุปัฏนารามวรวิหารแล้วเสร็จ ๒ ปีเป็นปีที่ ๕ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๔) <?xml:namespace prefix = o ns = "urn:schemas-microsoft-com:office:office" />
สถานที่ตั้งวัดเดิมเป็นที่สวนของท่านอุปฮาดโท (ต้นตระกูล ณ อุบล) ซึ่งท่านเป็นบิดาของพระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล) ซึ่งเป็นกรมการเมืองอุบลราชธานี ท่านเป็นผู้มีจิตศรัทธาอันแรงกล้า ได้บริจาคที่สวนเนื้อที่ประมาณ ๒๕ ไร่ สำหรับสร้างวัดในสงฆ์คณะธรรมยุตนิกาย ซึ่งเป็นค่านิยมของเจ้านายในสมัยนั้น และถือว่าเป็นเกียรติอย่างมากเมื่อได้ถวายที่ดินให้กับคณะสงฆ์ธรรมยุตนิกาย ซึ่งเป็นคณะสงฆ์ใหม่ที่สถาปนาขึ้นในตอนปลายรัชกาลที่ ๓ โดยพระวชิรญาณเถร (ร.๔ เมื่อครั้งทรงผนวช) ในสมัยนั้นมีพระเถระที่สำคัญมาประจำอยู่ที่วัดสุปัฏนาราม ๒รูปคือท่านพนฺธุโล (ดี) และท่านเทวธมฺมี (ม้าว) พระอุปฮาดโทพร้อมด้วยบริวารและคณะญาติ ได้ประกอบพิธีกรรมประชุมคณะสงฆ์ และฝ่ายคฤหัสถ์ผู้ใหญ่ในเมืองอุบลราชธานี มีการกล่าวถวายที่ดินต่อหน้าพระเถระ ยกให้เป็นสมบัติในพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นที่ตั้งวัด ในยามราตรีกาล
ของวันนั้นเกิดนิมิตประหลาดขึ้น มีแสงสว่างพวยพุ่งขึ้นเป็นสีเหลืองทองภายในบริเวณสวนนั้น จึงได้ถือนิมิตมงคลนี้เป็นการตั้งชื่อวัดว่า วัดศรีทอง
ฝ่ายคณะสงฆ์อันมี ท่านเทวธมฺมี ( ม้าว ) ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองวัดศรีทองเป็นรูปแรก เริ่มการก่อสร้างกุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๙๘ ท่านพระเทวธมฺมี (ม้าว) รูปนี้ ตามประวัติปรากฏว่าท่านได้เข้าไปรับการศึกษาพระปริยัติธรรม ที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เป็นสามเณร และได้เป็นสัทธิวิหาริกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อครั้งทรงผนวชที่วัดบวรนิเวศวิหาร ความประพฤติและปฏิปทาของท่านเป็นที่ทรงโปรดพอพระราชหฤทัยของรัชการที่ ๔ เป็นอย่างมาก ท่านได้ถือลัทธิธรรมยุตนิกายสืบสาย มาตั้งคณะธรรมยุตนิกายที่วัดสุปัฏนาราม เป็นวัดคณะธรรมยุตนิกายวัดแรกในภาคอีสานกับท่านพนฺธุโล(ดี) ผู้เป็นอาจารย์ ดังนั้น ท่านพระเทวธมฺมี (ม้าว) จึงถือว่าเป็นพระเถระผู้มีศักดิ์ใหญ่เป็นที่เคารพยำเกรงแก่บรรดาเหล่าพระภิกษุสามเณร และบรรดาเหล่าข้าราชการกรมการเมืองอุบลราชธานี ตลอดจนประชาชนทั้งหลายในสมัยนั้น จนในกาลต่อมาท่านจึงเป็นผู้ที่สมควรอย่างยิ่งที่จะคุ้มครองพระแก้วบุษราคัม อันเป็นพระพุทธรูปล้ำค่าคู่เมืองของชาวอุบลราชธานี
ซึ่งแต่ก่อนได้นำไปซ่อนไว้ เพราะเกรงกลัวเจ้านายผู้นิยมวัตถุโบราณขอไป หรือยึดเอาไป ดังนั้นท่านจึงจัดพิธีรับเอาพระแก้วบุษราคัมไว้ในความดูแลของวัดศรีอุบลรัตนารามจนถึงปัจจุบัน
และต่อมาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญา ทรงรับวัดนี้ไว้ในพระอุปถัมภ์และพระราชทานเปลี่ยนนามเป็น วัดศรีอุบลรัตนาราม