ชื่อ | วัดมหาวนาราม |
---|---|
ที่อยู่ | |
โทรศัพท์ | ๐ ๔๕๒๔ ๔๙๖๕ |
โทรสาร | |
จังหวัด | อุบลราชธานี |
อำเภอ | เมืองอุบลราชธานี |
ตำบล | ในเมือง |
วัดมหาวนาราม เดิมชื่อว่า วัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า
วัดป่าใหญ่ วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่และถือเป็น วัดคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอุบลราชธานี เหตุที่มีการสร้าง คือ เมื่อ พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ ( ท้าวคำผง ) เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนแรก ได้ก่อสร้างเมืองอุบลราชธานีบริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูลแล้ว ก็ได้ก่อสร้างวัดขึ้น ที่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ตั้งชื่อว่า วัดหลวง เพื่อให้เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลแก่ประชาชนทั่วไป ( ถือว่าเป็นวัดแห่งแรกของเมืองอุบลฯ ) หลังจากก่อสร้างวัดหลวงแล้วก็ได้นิมนต์ พระธรรมโชติวงศา ซึ่งเป็นพระมหาเถระและพระภิกษุสามเณร ให้มาอยู่จำพรรษา เพื่อสนองศรัทธาของประชาชน เมื่อพระมหาเถระได้เข้ามาอยู่จำพรรษาแล้วท่านเห็นว่า วัดนี้เป็นวัดบ้าน หรือ ฝ่ายคามวาสี ตั้งอยู่กลางใจเมืองไม่เหมาะแก่การปฏิบัติสมณธรรมวิปัสสนากรรมฐาน จึงได้แสวงหาสถานที่ใหม่ โดยพิจารณาเห็นว่า ป่าดงอู่ผึ้ง ห่างจากวัดหลวงไปทางทิศเหนือประมาณ ๑๐๐ เส้น มีหนองน้ำ ชื่อว่า หนองสะพัง เป็นสถานที่อันสงบวิเวก เหมาะแก่การตั้งเป็นสำนักสงฆ์ฝ่ายวิปัสนากรรมฐาน หรือ ฝ่ายอรัญญวาสี จึงได้ก่อตั้งขึ้นเป็นสำนักสงฆ์ ( พุทธศักราช ๒๓๒๒ ) ขึ้น ชื่อว่า วัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์ เพื่อให้คู่กับ วัดหลวง ซึ่งก่อตั้งขึ้นก่อนแล้วนั้น แต่ก็ยังไม่ทันได้ตั้งเป็นวัดให้เรียบร้อยสมบูรณ์ เจ้าเมือง คือ พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ ( ท้าวคำผง ) ก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมลง ( พุทธศักราช ๒๓๓๘ ) ต่อมา เจ้าเมืองคนที่สอง คือ พระพรหมวรราชสุริยะวงศ์ ( ท้าวทิดพรหม )ได้มาก่อสร้างวิหารอารามในวัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์ เมื่อ พุทธศักราช ๒๓๔๘ หลังจากนั้น อีก ๒ ปี (พุทธศักราช ๒๓๕๐) ได้ยกฐานะเป็นวัดและให้ถือเป็นวัดประจำเจ้าเมืองคนที่สองด้วย ให้ชื่อว่า วัดป่าหลวงมณีโชติ แต่ชาวบ้านเรียกว่า วัดหนองตะพัง หรือ หนองสระพัง ตามชื่อหนองน้ำที่อยู่ใกล้เคียง ( มีหลักฐานการสร้างวัดอยู่ที่ ศิลาจารึก ซึ่งตั้งอยู่ข้างหลัง ด้านซ้ายของพระเจ้าใหญ่อินทร์แปง ระบุปีที่สร้างวัดนี้ ตรงกับ พุทธศักราช ๒๓๕๐ ) โดยมี พระมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศา เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก และเป็นผู้สร้างพระพุทธรูปพระอินแปง หรือ พระเจ้าใหญ่อินทร์แปง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วัดมหาวันหรือวัดป่าใหญ่ และได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งตามสมัยนิยมเรียกว่า วัดมหาวนาราม ( เมื่อปี พุทธศักราช ๒๔๘๔ ) แต่ความหมายของวัด ก็ยังคงเป็นเช่นเดิม คือ แปลว่า ป่าใหญ่ ต่อมาได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑<?xml:namespace prefix = o ns = "urn:schemas-microsoft-com:office:office" />