ชื่อ | วัดพระพุทธบาทตากผ้า |
---|---|
ที่อยู่ | |
โทรศัพท์ | ๐ ๕๓๕๗ ๒๙๖๑ |
โทรสาร | |
จังหวัด | ลำพูน |
อำเภอ | ป่าซาง |
ตำบล | มะกอก |
วัดพระพุทธบาทตากผ้า เป็นวัดที่สร้างมานานและถือว่าเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง เพราะมีรอยพระพุทธบาทและรอยตากผ้า เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ตามตำนานกล่าวว่า ในอดีต สมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ อยู่ได้เสด็จมาสู่สุวรรณภูมิโดยพุทธนิมิต<?xml:namespace prefix = o ns = "urn:schemas-microsoft-com:office:office" />
ครั้งหนึ่งพระองค์ได้เสด็จมาบริเวณวัดพระพุทธบาทตากผ้า แล้วได้ทรงอธิษฐานประทับรอยพระบาทไว้บนพื้นศิลาใหญ่ และได้ทรงรับสั่ง ให้พระอานนทเถระนำจีวรไปตากไว้บนผาลาดใกล้ ๆ ที่ประทับ บริเวณที่ตากจีวรนั้นปรากฏเป็นรอยตารางคล้ายตาจีวร วัดนี้จึงได้ชื่อว่า วัดพระพุทธบาทตากผ้า
กาลผ่านมาประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓ พระเจ้าศรีธรรมาโศกมหาราช ผู้ครองเมืองชมพูทวีปโปรดให้มีการทำสังคายนาพระธรรมวินัยขึ้น เป็นครั้งที่ ๓ ครั้งนั้นก็ส่งพระโสณเถระและพระอุตตรเถระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังสุวรรณภูมินี้ เมื่อพระพุทธศาสนาได้แพร่เข้ามา ยังสุวรรณภูมิและลานนาไทย พระพุทธบาทแห่งนี้ก็ได้รับการบำรุงรักษา จนสถานที่นี้ได้แปรสภาพเป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่ง
ถึงปี พุทธศักราช ๑๒๐๐ พระนางจามเทวี ราชธิดาของพระเจ้ากรุงละโว้ (ลพบุรี) ได้เสด็จมาขึ้นครองนครหริภุญชัย พระนางได้สร้างอุโมงค์ครอบรอย พระพุทธบาทไว้ เพื่อเป็นพุทธบูชา เสร็จแล้วได้จัดให้มีการสมโภชเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่
ครั้นปี พุทธศักราช ๑๘๒๔ เมืองหริภุญชัย สมัยของพระยายีบาได้เสียให้แก่พระเจ้าเม็งรายมหาราช กษัตริย์ในราชวงศ์เม็งรายได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงสืบมาจนสิ้นราชวงศ์เม็งราย บ้านเมืองเกิดศึกสงคราม ต้องรกร้างว่างเปล่า พระพุทธบาทแห่งนี้ก็มีอันต้องทรุดโทรมลง
ต่อมาปี พุทธศักราช ๒๓๗๕ พระเถระหลายรูป มีพระครูบาป๋าบารมี วัดสะปุ๋งหลวง เป็นประธาน ได้นำทายกทายิกาสร้างพระวิหารหลังใหญ่ครอบพระอุโมงค์พระพุทธบาทไว้อีกชั้นหนึ่งเพื่อเป็นที่พักอาศัยสำหรับสาธุชนที่ขึ้นมาสักการบูชา
ถึงปี พุทธศักราช ๒๔๗๒ คณะสงฆ์จังหวัดลำพูน มีพระครูพุทธวงศ์ธาดา เจ้าคณะอำเภอป่าซอง วัดฉางข้าวน้อยเหนือเป็นประธาน ฝ่ายฆราวาสมีหลวง วิโรจน์รัฐกิจ (เปรื่อง โรจนกุล) นายอำเภอป่าซอง เป็นประธาน พร้อมกับศรัทธาประชาชนได้พร้อมใจกันไปนิมนต์ครูบาศรีวิชัย นักบุญลือชื่อแห่งลานนาไทย วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มาเป็นประธานในการก่อสร้างวิหารจตุรมุข ครอบรอยพระพุทธบาทจนสำเร็จตั้งแต่นั้นมา ก็ได้มีพระภิกษุสามเณรมาพักอาศัยและอยู่จำพรรษาเป็นครั้งคราว
เนื่องจากบริเวณที่เป็นวัดพระพุทธบาทตากผ้า มีทำเลที่เหมาะสมแก่การบำเพ็ญสมณธรรมอย่างยิ่ง ดังนั้นในปี พุทธศักราช ๒๔๘๖ พระมงคลญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดลำพูน วัดพระยืน และพระครูพิศาลพุทธิธร เจ้าคณะอำเภอป่าซาง วัดป่าซางงาม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ฝ่ายฆราวาสมีนายหอม พรหมสิงห์ นายอำเภอป่าซางเป็นประธาน พร้อมด้วยศรัทธาประชาชน ได้พร้อมใจกันไปนิมนต์ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก (พระสุพรหมยานเถร) วัดป่าหนองเจดีย์ ตำบลท่าตุ้ม อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน มาเป็นประธานในการก่อสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ เช่น พระอุโบสถ กำแพง ถังเก็บน้ำ โรงเรียนปริยัติธรรม ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ เป็นต้น และตั้งแต่บัดนั้นมา วัดพระพุทธบาทตากผ้าก็ได้มีพระสงฆ์อยู่ประจำมาโดยตลอด และเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองตามลำดับ
วัดพระพุทธบาทตากผ้า ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนดสามัญ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๑