ชื่อ | วัดบุญยืน |
---|---|
ที่อยู่ | ๓๑ หมู่ ๔ |
โทรศัพท์ | ๐ ๕๔๗๘ ๑๘๗๒ |
โทรสาร | |
จังหวัด | น่าน |
อำเภอ | เวียงสา |
ตำบล | กลางเวียง |
วัดบุญยืน สร้างขึ้นเมื่อ ๒๕๒๙ ตามตำนานกล่าวว่า วัดนี้เป็นวัดที่สร้างคู่กับการสร้างเมือง เวียงป้อ ซึ่งเมื่อเวียงป้อสร้างขึ้นโดย พระยาป้อ เรียกชื่อเมืองตามผู้สร้างเมือง แต่มีนิยมเรียกกันว่า เวียงสา หรือ เมืองสา เดิมพระยาป้อ ได้สร้างวัดเป็นเพียงสำนักสงฆ์เล็ก ๆ ให้นามว่า วัดบุญนะ ส่วนระยะเวลาในการก่อสร้างไม่ปรากฏชัด บริเวณที่ตั้งเดิมนั้น ตั้งอยู่ที่ด้านทิศใต้ของวัดบุญยืนปัจจุบันนี้ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งตลาดสดของวัดและอาคารพาณิชย์) ครั้นต่อมาผู้ครองนครน่านนามว่า เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เสด็จประพาส เวียงป้อ (เวียงสา) ทรงเห็นว่าวัดบุญนะคับแคบไม่อาจขยายให้กว้างขวางได้ ประกอบกับเจ้าอาวาสขณะนั้น คือ อธิการนาย (ครูบานาย) และราษฎรได้เห็นพ้องต้องกันด้วย ดังนั้น เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ จึงได้สร้างวัดใหม่ห่างจากวัดเดิมประมาณ ๓ เส้น ทางด้านทิศเหนือบนฝั่งขวาของลำน้ำน่าน เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๓๒๙ บริเวณที่ตั้งมีป่าไม้สักสมบูรณ์ จึงได้ใช้ไม้สักสร้างวิหาร กุฏิสงฆ์และศาสนาวัตถุอื่น ๆ เป็นต้น เป็นจำนวนมากและพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดป่าสักงาม ต่อมาได้โปรดเกล้าให้ หมื่นสรรพก่อสร้างพระวิหารกว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๓๐ เมตร เมื่อพุทธศักราช ๒๓๔๓ และสร้างพระพุทธรูปปางประทับยืน พระประธานในพระวิหาร หันพระพักตร์ไปทางด้านทิศเหนือขนาดสูง ๘ ศอก ดังนั้น จึงเรียกชื่อวัดป่าสักงามว่า เป็น วัดบุญยืน ตามลักษณะพระพุทธรูป โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าราชวงศ์เชียงของ เป็นผู้แกะสลักบานประตูใหญ่พระวิหาร พระพุทธรูปไม้สัก พระพุทธรูปจำลอง เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ และศาสนวัตถุอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากพุทธศักราช ๒๓๔๕ ให้ก่อสร้างพระเจดีย์แบบลังกาติดกับพระวิหารทางด้านทิศใต้ และพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพุทธศักราช ๒๓๔๗ ครั้นต่อมาพระอธิการโน (ครูบาโน) เจ้าอาวาส ได้ขออนุญาตเจ้าหลวงสา ผู้ปกครองเมืองเพื่อก่อสร้างพระวิหารขึ้นอีกหลังหนึ่ง มีความกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๒.๕๐ เมตร ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของพระวิหารหลังใหม่ ระยะก่อสร้างระหว่างพุทธศักราช๒๓๕๓ ถึงพุทธศักราช ๒๓๖๐ จึงแล้วเสร็จ<?xml:namespace prefix = o ns = "urn:schemas-microsoft-com:office:office" />
ครั้นพุทธศักราช ๒๔๕๑ เมืองสาได้รับฐานะเป็นกิ่งอำเภอและพุทธศักราช ๒๔๖๑ ได้ยกฐานะเป็นอำเภอและเปลี่ยนชื่ออำเภอเป็นอำเภอบุญยืน ตามพระนามพระประธานวัดบุญยืน ได้มีการบูรณะซ่อมแซมพระวิหาร โดยพ่อเลี้ยงวงศ์บ้านป่ากล้วย เป็นช่างซ่อมแซมบูรณะดังกล่าว แล้วเสร็จ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๖ ต่อมาเมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๐ เกิดฝนตกหนักเป็นเหตุให้พระเจดีย์ทรุดและพังลงมา มีคณะศรัทธา นำโดยเจ้าราชบุตร ณ น่าน ได้บริจาคทรัพย์บูรณธ มีช่างหมื่นจีนหลมเป็นก่อสร้างและซ่อมแซมบูรณะ แล้วเสร็จเมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๒ และปีนี้เองได้มีการเปลี่ยนชื่ออำเภออีกครั้งโดยเปลี่ยนเป็นอำเภอเวียงสา ตามชื่อเดิมที่ก่อสร้าง พุทธศักราช ๒๔๘๔ ได้มีการซ่อมแซมบูรณะ พระวิหาร พุทธศักราช ๒๔๘๕ ได้มีการเปิดสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม และเปิดสอนแผนกบาลีในปีถัดมา พุทธศักราช ๒๔๘๗ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดบุญยืนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๑ ตอน ๖๕ ลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๗ ครั้งพุทธศักราช ๒๔๙๙ คณะศรัทราโดยการนำของพระครูสาราธิคุณเจ้าอาวาสและเจ้าคณะอำเภอเวียงสา เห็นว่าตลิ่งลำน้ำสาบริเวณหน้าวัดได้พังทลายลงอันเกิดจากน้ำเซาะจะเป็นอันตรายต่อพระวิหาร จึงร่วมกับชาวบ้านและหน่วยงานราชการอื่น ๆ ได้ขุดคลองเปลี่ยนกระแสน้ำเพื่อมิให้เซาะตลิ่ง และพระครูสาราธิคุณเห็นว่าพระวิหารคับแคบไม่เหมาะสมในการประกอบสังฆกรรมของพระสงฆ์ จึงขอพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งใหม่โดยย้ายพัทธสีมาเดิมไปผูกเข้ากับพระวิหารให้กว้างขวางขึ้น และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลัง เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๙ (ตรงกับเดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ วันศุกร์) เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๓๐ เมตร ดังนั้น พระวิหารหลังเดิมจึงกลายสภาพเป็นพระอุโบสถเพื่อประกอบสังฆกรรม พุทธศักราช ๒๕๐๓ กรมการศาสนา กระทรงศึกษาธิการ ได้ประกาศให้เป็นวัดที่พัฒนาตัวอย่าง พุทธศักราช ๒๕๑๓ ได้ก่อสร้างอาคารเรียนพระปริยัติทดแทนหลังเดิมเป็นอาคารคอนกรีต ๒ ชั้น กว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๕ เมตร พุทธศักราช ๒๕๒๘ ได้ซ่อมแซมพระอุโบสถ ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว
วัดบุญยืน ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อ ปี พุทธศักราช ๒๕๓๙