ชื่อ | วัดพระธาตุช้างค้ำ |
---|---|
ที่อยู่ | ๑๓ |
โทรศัพท์ | ๐ ๕๔๗๑ ๐๐๓๘ |
โทรสาร | |
จังหวัด | น่าน |
อำเภอ | เมืองน่าน |
ตำบล | ในเวียง |
ตามพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า เจ้าผู้ครองนครน่าน ชื่อพญาภูเข่ง หรือภูเข็ง เป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๔๙ เรียกชื่อในครั้นนั้นว่า วัดหลวง หรือ วัดหลวงกลางเมือง หรือ วัดหลวงหกลางเวียง ส่วนชื่อ วัดช้างค้ำ หรือ วัดพระธาตุช้างค้ำ นั้น เพิ่งจะมาเรียกในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ตรงกับรัชกาลที่ ๑ เพราะว่าภายในวัดมีพุทธเจดีย์หรือพระธาตุหลวงก่อเป็นช้างครึ่งตัวโผล่หน้าออกมาเอาหลังหนุนองค์พระเจดีย์ไว้ทั้ง ๔ ด้าน ๆ ละ ๖ เชือก รวม ๒๔ เชือก
มูลเหตุการณ์สร้างวัดตามตำนานมีว่า ครั้งหนึ่งกองทัพพม่า ซึ่งมีแสนยานุภาพช้างม้ารี้พลมาจะยึดเอานครน่านเป็นเมืองออก เจ้านครน่านเห็นเหลือกำลังจะรับข้าศึกได้ จึงแต่งอุบายส่งทูตไปเจรจากับแม่ทัพพม่า โดยมีเงื่อนไข ว่าทั้งสองต่างเป็นชาวพุทธด้วยกัน หากจะรบกันก็จะเสียกำลังพลเป็นจำนวนมาก ให้สร้างเจดีย์แข่งกัน โดยเริ่มสร้างตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนรุ่งอรุณ ฝ่ายใดสร้างเสร็จละยกฉัตรเจดีย์ขึ้นได้ก่อน ก็ให้ลั่นฆ้องเป็นสัญญานฝ่ายชนะ ถ้านครน่านแพ้จะยอมเป็นเมืองออกของพม่า แต่ถ้าฝ่ายพม่าแพ้ตกยกทัพกลับไป ฝ่ายแม่ทัพยอมรับเงื่อนไข ฝ่ายพม่าระดมกำลังพลปั้นอิฐสร้างพระเจดีย์ ฝ่ายนครน่านใช้ไม้ไผ่สานสังเวียนใหญ่น้อยลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ ให้มีลักษณะเหมือนพระเจดีย์ ระดมผู้คน ช้างจำนวนมากมาย ขนดินหิน กรวด ทราย มาถมไว้ในวังเวียง แล้วใช้ผ้าขาวหุ้ม มองเห็นแต่ไกลเหมือนองค์พระเจดีย์ ก่อนรุ่งอรุณขึ้นเล็กน้อยและยกช่อฉัตร ลั่นฆ้องชัยเป็นสัญญานชัยชนะ ฝ่ายพม่าคงสร้างเสร็จแต่พระเจดีย์ ไม่ทันยกฉัตรขึ้น จึงเป็นฝ่ายยอมแพ้ และยกทัพกลับ บัดนั้นเจ้านครน่าน ทรงเห็นว่า เพื่อเป็นอนุสรณ์ในชัยชนะ จึงทรงให้สร้างเจดีย์องค์จริงขึ้นและสร้างวัดขึ้น ณ บริเวณที่สร้างเจดีย์เทียม กับโปรดให้สร้างรูปช้างโผล่หัวครึ่งตัวรอบฐานพระเจดีย์ชั้นที่ ๒ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ช้างมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการค้ำจุนพระเจดีย์
วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๐๑