ชื่อ | วัดพระสิงห์ |
---|---|
ที่อยู่ | ๒ |
โทรศัพท์ | ๐ ๕๓๒๗ ๘๗๕๒ |
โทรสาร | |
จังหวัด | เชียงใหม่ |
อำเภอ | เมืองเชียงใหม่ |
ตำบล | พระสิงห์ |
วัดพระสิงห์ เป็นวัดที่เก่าแก่ตั้งอยู่ใกล้กับประตูสวนดอก ซึ่งเป็นประตูกำแพงเมืองชั้นในด้านทิศตะวันตกแต่เดิมมาเป็นวัดป่าอยู่ด้านทิศตะวันตกของ ลีเชียง ซึ่งแปลว่า ตลาดประจำเมืองเมืองสร้างวัดขึ้นบริเวณนั้นแล้วชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดลีเชียง สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าคำฟูครองเมืองเชียงใหม่<?xml:namespace prefix = o ns = "urn:schemas-microsoft-com:office:office" />
ครั้นประมาณปีพุทธศักราช ๑๘๗๗ พระเจ้าคำฟูได้ย้ายจากเชียงใหม่ไปครองเมืองเชียงแสนเป็นเวลาประมาณ ๑๐ ปีเศษ ก็สวรรคต พระเจ้าผายูราชโอรส กษัตริย์แห่งล้านนา อันดับที่ ๗ ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ระหว่าง ปีพุทธศักราช ๑๘๘๗ ๑๙๑๐ ได้อัญเชิญพระอัฐิและพระอังคารของพระราชบิดามายังเชียงใหม่ และโปรดให้ก่อพระสถูปบรรจุไว้ที่ วัดลีเชียง ขณะเดียวกันก็ได้โปรดให้สร้างวิหารขึ้นไว้แล้วโปรดให้นิมนต์พระมหาอุภัยจุลเถระจากนครหริภุญไชยมาเป็นเจ้าอาวาสวัดลีเชียงเมื่อปีพุทธศักราช ๑๘๘๘ ได้จัดให้มีมหกรรมฉลองสมโภช พร้อมกับขนานนามว่า วัดลีเชียงพระ ซึ่งชวนให้คิดว่าการสร้างพระวิหารและพระสถูปบรรจุพระอัฐิพระเจ้าคำฟูก็ดี การนิมนต์พระมหาเถระที่เป็นปราชญ์มาเป็นเจ้าอาวาสก็ดี น่าจะถือว่าเป็นนิมิตหมายแห่งการยกฐานะวัดสามัญขึ้นพระอารามหลวง เพื่อเป็นเกียรติเป็นศรีแก่ราชสกุลในสมัยนั้น ครั้นต่อมาหลังจากปี พุทธศักราช ๑๙๔๓ เจ้ามหาพรหม ซึ่งได้อาศัยเจ้าเมืองกำแพงเพชรอยู่นั้น ได้กลับมายังเมืองเชียงใหม่ พร้อมกับอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ มาถวายพระเจ้าแสนเมืองมาด้วย พระเจ้าแสนเมืองมาจึงได้โปรดให้ไปประดิษฐานไว้ ณ พระวิหารวัดลีเชียงพระ ตั้งแต่บัดนั้นมาประชาชนทั่วไปนิยมเรียกวัดนี้ว่า วัดพระสิงค์ มาตราบเท่าทุกวันนี้
วัดพระสิงห์ได้กลายเป็นศูนย์กลางการชุมนุมประกอบพิธีและงานสำคัญต่าง ๆ ของชาวเมืองเชียงใหม่สืบต่อมาโดยตลอด จนกระทั่งในปี พุทธศักราช ๒๓๑๙ เมืองเชียงใหม่ได้ตกเป็นเมืองร้างเป็นเหตุให้วัดพระสิงห์กลายเป็นวัดร้างไปด้วย
ถึงปีพุทธศักราช ๒๓๓๙ พระยากาวิละในราชวงศ์ทิพย์ช้าง ได้เป็นเจ้าผู้ครองนครและฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดพระสิงห์ได้เจริญรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระวิหารลายคำ ในรัชสมัยของเจ้าหลวงช้างเผือก (ธรรมลังกา)
ต่อมาประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๖๑ วัดพระสิงห์กลับมาเป็นวัดร้างอีกครั้งหนึ่ง และวัดอื่น ๆ มีวัดเจดีย์หลวง วัดสวนดอก และวัดเจ็ดยอด มีสภาพเป็นวัดร้างเหมือนกันหมด
และในปีพุทธศักราช ๒๔๖๗ เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่อันดับที่ ๙ ในราชวงศ์ทิพย์ช้างกับเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในรัชกาลที่ ๕ ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระสิงห์ขึ้นใหม่ โดยมีครูบาศรีวิชัย เป็นประธานดำเนินการ ได้ก่อสร้างถาวรวัตถุและอาคารเสนาสนะต่าง ๆ ขึ้นเป็นหลักฐานมั่นคง มีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษาเพิ่มมากขึ้น
วัดพระสิงห์ ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดมหาวรวิหาร เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๓ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์