ชื่อ | วัดเจ็ดยอด |
---|---|
ที่อยู่ | ๙๐ หมู่ ๒ |
โทรศัพท์ | ๐ ๕๓๒๒ ๕๓๔๔ |
โทรสาร | |
จังหวัด | เชียงใหม่ |
อำเภอ | เมืองเชียงใหม่ |
ตำบล | ช้างเผือก |
วัดเจ็ดยอด เป็นวัดวัดโบราณที่พระเจ้าติโลกราช พระราชาธิบดีองค์ที่ ๒๒ แห่งราชวงศ์มังราย โปรดให้หมื่นด้ามพร้าคด หรือ สีหโคตเสนาบดี เป็นนายช่างทำการก่อสร้าง ตั้งแต่ปี พุทธศักราช ๑๙๙๙ เมื่อสถาปนาอารามสำเร็จแล้ว พระเจ้าติโลกราชโปรดให้นิมนต์พระมหาเถระชื่อ พระอุตตมปัญญา มาสถิตเป็นอธิบดีองค์แรกแห่งหมู่สงฆ์ในอารามนี้ ครั้งนั้นพระเจ้าติโลกราชได้ทรงสดับธรรมบรรยายจากสำนักพระภิกษุสีหล เรื่องอานิสงส์ปลูกต้นโพธิ์ จึงโปรดให้แบ่งหน่อมหาโพธิ์ต้นเดิมที่พระภิกษุสีหลนำมาจากศรีลังกาเอามาปลูกขึ้นไว้ในอารามป่าแดงหลวง เชิงดอยสุเทพ นำมาปลุกไว้ในอารามที่สร้างขึ้นใหม่ เหตุที่หน่อมหาโพธิ์ปลูกในอารามแห่งนี้ จึงได้รับการขนานนามว่า วัดมหาโพธาราม<?xml:namespace prefix = o ns = "urn:schemas-microsoft-com:office:office" />
วัดเจ็ดยอด เป็นอารามที่มีความสำคัญยิ่งทางพุทธศาสนาในอาณาจักรล้านนา ด้วยเมื่อพุทธศักราช ๒๐๒๐ พระเจ้าติโลกราช โปรดให้จัดการประชุมพระเถรานุเถระทั่วทุกหัวเมืองในอาณาจักรล้านนา แล้วทรงคัดเลือกได้พระธรรมทิณเจ้าอาวาสวัดป่าตาล ผู้เจนจัดในพระบาลีเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระเจ้าติโลกราชทรงรับเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ทำสังคายนาพระไตรปิฏก ณ วัดมหาโพธารามปีหนึ่งจึงสำเร็จเรียบร้อย การสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งใหญ่เป็นลำดับที่ ๘ นับเนื่องได้ทำมาแล้วที่ประเทศอินเดียและศรีลังการวมเจ็ดครั้ง และการทำสังคายนาพระไตรปิฏกที่วัดมหาโพธารามก็นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
วัดเจ็ดยอดได้กลายเป็นวัดร้างที่ไม่มีพระภิกษุอาศัยแต่เมื่อใดไม่พบหลักฐานแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๑๙ หัวเมืองต่าง ๆ ในแคว้นล้านนาประสบกับภัยสงครามทั่วไปหมด ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงประกาศให้ทิ้งเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากไม่มีกำลังพอเพียงที่จะรักษาเมือง พระภิกษุสามเณรและพลเมืองจึงพากันอพยพไปอยู่ตามหัวเมืองอื่น ๆ หมด ต่อมาสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้ากาวิละได้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ตามพระบรมราชโองการของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมืองเชียงใหม่ก็ได้กลับตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
วัดเจ็ดยอด ได้รับพระราชทาน วิสูงตามสีมา เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๑ ทำพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๔๘๗ เป็นอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑